แนวคิดและงาน ของ เมล บอชเนอร์

บอชเนอร์เป็นศิลปินในยุคของความเปลี่ยนแปลง (ครึ่งหลังทศวรรษที่ 1960) เป็นช่วงเวลาที่ภาพเขียนค่อยๆ สูญเสียความสำคัญในพื้นที่ศิลปะสมัยใหม่ และภาษาได้เปลี่ยนแปลงจากการมีหน้าที่เพียงอธิบายศิลปะ กลายเป็นศิลปะด้วยตัวมันเอง บอชเนอร์ได้สำรวจระเบียบแบบแผนของทั้งภาพเขียนและภาษามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิธีที่เราสร้างและเข้าใจมัน และวิธีที่มันเชื่อมโยงระหว่างกัน เพื่อที่จะทำให้เราสนใจรหัสภายใต้ข้อตกลงของเรากับสังคมมากขึ้น[3] งานศิลปะของเขาจึงเป็นงานที่มักแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง "ภาษา" กับ "พื้นที่" หรือ "สี"[4]

“สิ่งที่ผมอยากจะทำความเข้าใจคือ ธรรมชาติของข้อตกลง ข้อตกลงเป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขตประสบการณ์ของเรา ถ้าคุณตรวจสอบข้อตกลงนั้น คุณจะพบว่าช่องโหว่ของมันอยู่ตรงไหน คุณจะพบการรั่วไหลระหว่างคำว่า ใช่ กับ ไม่ใช่” บอชเนอร์กล่าวกับเจมส์ เมเยอร์ (James Meyer) จากการเสวนา "คุณจะปกป้องการเขียนภาพได้อย่างไรในตอนนี้" (How Can You Defend Making Paintings Now?) ปี 1993[5]

ตัวอย่างผลงาน

ปี 1966 บอชเนอร์เป็นศิลปินและภัณฑารักษ์ในนิทรรศการศิลปะที่ชื่อว่า “งานวาดเขียน หรือรูปภาพต่างๆ ที่ปรากฏบนกระดาษไม่จำเป็นต้องเรียกว่าศิลปะ” (Working Drawings and Other Visible Things on Paper Not Necessarily Meant to Be Viewed as Art) จัดขึ้นที่สคูล ออฟ วิชวล อาร์ต (School of Visual Arts)นิทรรศการครั้งนั้นมีความมุ่งหมายว่าภาพเขียนที่จัดแสดงต้องไม่เป็นไปตามธรรมเนียมเดิม บอชเนอร์จึงใช้เทคโนโลยีการถ่ายเอกสารเพื่อคัดลอกภาพหลายชนิด เช่น ภาพสเก็ตช์ ภาพลายเส้น พิมพ์เขียว ไปจนถึงกระดาษโน้ต คำอธิบาย และของอื่นๆ ที่ศิลปินมินิมอลลิสม์ (Minimalism) บางคนมอบให้มาใส่ไว้ในแฟ้มตรงแท่นจัดแสดงผลงาน ดังนั้นจึงไม่มีผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ มีเพียงแนวความคิดทางศิลปะให้ชม โดยมีทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการออกแบบและความบังเอิญ ทำให้ศิลปะและสิ่งที่ไม่ใช่ศิลปะมาปะทะกัน และความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ก็เริ่มแยกจากกันได้ยากมากขึ้น สิ่งที่บอชเนอร์นำมาจัดแสดง ยกตัวอย่างเช่น สำเนาภาพสเก็ตช์ของโซล เลวิทท์ (Sol LeWitt) และโดนัลด์ จัดด์ (Donald Judd) การคำนวณ และโน้ตเพลงของจอห์น เคจ (John Cage) ไปจนถึงแผนภาพการสะสมและถ่ายเอกสารของบอชเนอร์เอง เป็นต้น ในสายตาของนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายท่านเห็นว่านิทรรศการครั้งนั้นเป็นงานคอนเซ็ปชวลขนานแท้งานแรก และเป็นต้นแบบให้กับการจัดแสดงผลงานอื่นๆ ตามแนวทางคอนเซ็ปชวลในภายหลัง ซึ่งก็คือการที่แนวความคิดสำคัญกว่าตัวผลงาน หลายปีต่อมาบอชเนอร์หันมาทำงานศิลปะในรูปแบบที่เรียกว่า “ความคิดที่ถ่ายทอดออกมาให้เห็นเป็นภาพ” บอชเนอร์ทดลองทำงานหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการทดลองใช้ภาพถ่ายกับภาพวาดต่อเนื่องเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติ องค์ความรู้และประสบการณ์[6][7]

ปี 1969 บอชเนอร์ทำงานชุด “ห้องแห่งการวัด” (Measurement Room) ผลงานชุดนี้ทำให้ห้องกลายเป็นผลงานศิลปะ ไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ในการนำเสนอผลงานศิลปะอีกต่อไป โดยบอชเนอร์ทำการวัดขนาดพื้นที่แต่ละส่วนในห้องสำหรับจัดแสดงงานเปล่าๆ และติดขนาดที่วัดได้ไว้ข้างผนังด้วยเทปกาว วิธีการนี้ทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างความเป็นนามธรรมจากรูปทรงเรขาคณิตและพื้นที่จริงของห้องที่จัดแสดงผลงาน[8]

ปี 1970 เป็นช่วงเวลาที่บอชเนอร์เริ่มทำงานประเภทจิตรกรรม โดยมักให้ความสำคัญกับภาษา และการใช้สี เช่นผลงานในนิทรรศการกลุ่ม จัดแสดงที่ดวอนแกลเลอรี (Dwan Gallery) โดยเขาเขียนข้อความว่า “ภาษาไม่โปร่งแสง” (Language Is Not Transparent) ไว้บนผนัง ซึ่งเป็นการนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมของภาษา[9]

ปี 1998 ผลงานชื่อ "Event Horizon" บอชเนอร์ติดผืนผ้าใบขนาดต่างๆ บนผนังต่อกันตามแนวนอน และเขียนขนาดความกว้างเป็นนิ้วบนผ้าใบ

ปี 2011 ผลงานชื่อ "Blah, Blah, Blah" ภาพวาดที่แสดงให้เห็นความหลงใหลอย่างต่อเนื่องในภาษาและการใช้สีของบอชเนอร์ โดยคำว่า Blah Blah Blah จำนวนมาก เป็นสีที่ไหลซึมอยู่บนผืนผ้าสีดำขนาดใหญ่[10]

บทบาทอื่นๆ ในวงการศิลปะ

  • ปี 1965 เป็นอาจารย์สอนศิลปะที่สคูล ออฟ วิชวล อาร์ต เขียนคอลัมน์ลงในนิตยสาร อาร์ต แมกกาซีน (Arts Magazine) และยังเป็นนักวิจารณ์เกี่ยวกับพัฒนาการในวงการศิลปะมินิมอลลิสม์ในนิวยอร์ก ซึ่งส่งผลต่อการทำงานศิลปะที่คำนึงถึงโครงสร้างทางความคิดและภาษา โดยในช่วงเวลานั้นบอชเนอร์ก็ทำงานศิลปะแบบมินิมอลลิสม์[11]
  • ปี 1979 บอชเนอร์ได้รับตำแหน่งนักวิจารณ์อาวุโส ในสาขาจิตรกรรมและภาพพิมพ์ ที่มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) และได้เป็นศาสตราจารย์วุฒิคุณที่นั่นในปี 2001[12]
  • งานเขียนได้แก่ Solar System & Rest Rooms: Writings and Interviews, 1965-2007 และ Mel Bochner: Thought Made Visible 1966-1973[13]

ใกล้เคียง